Brexit
การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือ เบร็กซิต (อังกฤษ: Brexit) เป็นที่ถกเถียงมานานในหมู่บุคคล สถาบันกฎหมาย และพรรคการเมือง ตั้งแต่ที่สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแรกของสหภาพยุโรป (EU) ในปี ค.ศ. 1973 ทั้งนี้ การออกจากสหภาพยุโรปของประเทศสมาชิกสามารถกระทำได้ตามมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป (สนธิสัญญาลิสบอน) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า : "รัฐสมาชิกใด ๆ อาจตัดสินใจออกจากสหภาพตามข้อกำหนดแห่งกฎหมายของรัฐนั้น"[1]
ในปี ค.ศ. 1975 การลงประชามติถูกกำหนดให้มีขึ้นในทุกประเทศสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (ECC) ซึ่งภายหลังได้พัฒนาเป็นสหภาพยุโรป การลงประชามติในครั้งนั้นได้ผลว่า ทุกประเทศสมาชิกจะยังคงเป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อไป
ในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 สหราชอาณาจักรได้ทำการลงมติสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป โดยฝ่ายที่ต้องการให้ออกจากสหภาพยุโรปเป็นฝ่ายชนะ
การลงประชามติ ค.ศ. 1975
ใน ค.ศ. 1975 สหราชอาณาจักรได้มีการลงประชามติว่าสหราชอาณาจักรควรอยู่ในประชาคมเศรษฐกิจยุโรปต่อหรือไม่ ในครั้งนั้นทุกพรรคการเมืองต่างสนับสนุนการอยู่ต่อ อย่างไรก็ตาม ก็มีความขัดแย้งบางส่วนในพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เมื่อที่ประชุมพรรคในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1975 มีมติ 2 ต่อ 1 ว่าควรออกจากประชาคม คณะรัฐมนตรีจึงแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายสนับสนุนยุโรปและฝ่ายต่อต้านยุโรป รัฐมนตรี 7 คนจาก 23 คนคัดค้านการดำรงสมาชิกภาพในประชาคม[2]
การลงประชามติ ค.ศ. 2016
ใน ค.ศ. 2013 นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน ได้ปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้มีการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป แต่แคเมอรอนก็แนะนำว่าการลงประชามติอาจจะมีขึ้นได้ในอนาคตหากประชาชนต้องการ[5][6] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2556 นายกรัฐมนตรีแคเมอรอนประกาศว่า รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมอาจจะจัดให้มีการลงประชามติว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2017 บนเงื่อนไขว่าหากเขายังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต่อในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2015[7]
พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2015 ไม่นานหลังจากนั้น รัฐสภาก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการลงประชามติ แม้ว่านายกรัฐมนตรีแคเมอรอนจะอยากให้สหราชอาณาจักรยังอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปก็ตาม[8] แต่แคเมอรอนก็ได้ประกาศให้อิสระแก่รัฐมนตรีและส.ส.ของพรรคอนุรักษนิยมในการตัดสินใจตามวิจารณญาณของแต่ละคน[9] และเขายังได้อนุญาตให้รัฐมนตรีสามารถจัดกิจกรรมสนับสนุนหรือคัดค้านการออกจากสหภาพยุโรปตามอัธยาศัย[10] ตามถ้อยปราศรัยต่อสภาล่างในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 นายกรัฐมนตรีแคเมอรอนประกาศให้การลงประชามติมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 และประกาศกรอบระยะเวลาขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะทำต่อหากการประชามติมีผลว่าให้ออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดสองปีเป็นระยะเวลาในการเจรจาต่อรองและข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป
การลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016 มีหัวข้อว่า "สหราชอาณาจักรควรจะยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือถอนตัวจากสหภาพยุโรป ?" ซึ่งได้รับเสียงข้างมากว่า "ถอนตัว"
หลังการประกาศผล
เช้าวันรุ่งขึ้นหลังประกาศผล นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน ได้กล่าวแถลงลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีผู้นำคนใหม่ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายในการออกจากสหภาพยุโรป ในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ได้ออกมากล่าวว่าเป็นวันที่แสนเศร้าของประเทศชาติ
ยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังประกาศผล ค่าเงินปอนด์เทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 11% ส่วนเงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 3.3%[12] ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงอย่างหนักโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น